การถอนฟัน การถอนฟัน จะเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว หรือการเก็บรักษามี ความซับซ้อนหรือค่าใช้จ่ายที่สูง หรือฟันซี่นั้นเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ สาเหตุให้ต้องถอนฟันมีดังนี้ • มีอาการฟันผุมากจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน และผู้ป่วยไม่ประสงค์จะเก็บฟันโดยการรักษารากฟัน • มีปัญหาโรคเหงือกอย่างรุนแรง (โรครำมะนาด) • ฟันที่อาจแตกหักจนไม่สามารถรักษาได้ (แม้จะรักษารากฟันแล้วก็อาจจะเก็บไว้ไม่ได้เนื่องจากเนื้อฟันไม่เพียงพอ) • มีปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งและการขึ้นของฟันซึ่งทันตแพทย์เห็นสมควรที่จะถอน เช่น ปัญหาฟันคุด • ฟันที่ต้องถอนเนื่องจากการจัดฟัน :: ขั้นตอนการถอนฟัน บางกรณีการถ่ายเอ็กซเรย์อาจมีความจำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งจะทำในกรณีที่ตำแหน่งฟันซี่นั้นมีความเสี่ยงที่จะถอนได้ยาก ต่อไปจะทำการ ใส่ยาชาเพื่อตัดความรู้สึกจากเส้นประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บออกไป ระหว่างทำ จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่เส้นประสาทส่วนที่รับรู้แรงกดหรือดันยังคงทำงานอยู่ ทำให้รู้สึก กด หรือดันบริเวณตัวฟันได้บ้าง หลังจากการถอนฟันแล้วเหงือกจะขึ้น คลุมบริเวณ ที่ถอนออกไป โดยจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือนแผลจึงจะตื้นขึ้นมาแทนที่รากฟัน ที่ถอนออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดของรากฟัน :: ข้อควรระวังก่อนการถอนฟัน • ผู้ป่วยมีโรคทางระบบ ได้แก่โรคที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัว ,โรคที่ทำให้แผลหายช้า • หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อเส้นเลือดฝอยที่แตก ,โรคหัวใจขาดเลือด • ผู้ป่วยที่รับประทานยาที่มีผลให้เลือดไม่แข็งตัว เช่น Warfarin หรือรับประทานอาหารเสริมบางอย่างเช่น น้ำมันปลาในปริมาณที่มาก • ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการละลายของกระดูก(Bisphosphonate)ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน • ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณปากหรือข้างเคียง :: ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียฟัน • ทำให้ฟันข้างเคียงล้มเข้าหาช่องว่าง ทำให้เกิดฟันห่างได้ • ทำให้ฟันคู่สบยื่นยาวลงมาในบริเวณที่ไม่มีฟัน ทำให้ไม่สามารถใส่ฟันปลอมในอนาคตได้ • ทำให้ฟันซี่อื่นต้องรับแรงบดเคี้ยวมากขึ้นก่อให้เกิดการสึกหรือโรคปริทันต์ตามมา (จะเห็นผลชัดในกรณีสูญเสียฟันกรามไปหลายซี่) :: คำแนะนำและข้อควรปฏิบัติหลังจากได้รับการถอนฟันหรือผ่าฟันคุด 1. กัดผ้าให้แน่นไว้ 1 ชม. แล้วจึงคายผ้าทิ้ง หากยังมีเลือดไหลซึมออกให้กัดผ้าต่ออีก 1 ชม. ประคบน้ำเย็น บริเวณภายนอกช่องปาก ใกล้กับบริเวณที่ถอนฟัน 2. ไม่ควรบ้วนน้ำหรือน้ำลายบ่อย วันต่อมาใช้น้ำเกลืออุ่นๆ(น้ำอุ่น 1 แก้ว ผสมกับเกลือ 1 ช้อนชา ) บ้วนเบาๆ หลังจากการรับประทานอาหาร 3. ให้แปรงทำความสะอาดช่องปากตามปกติ เพียงแต่ระวังแผลที่ผ่าตัดหรือถอนฟัน 4. ห้ามเอานิ้วมือ ไม้จิ้มฟัน แคะเขี่ยบริเวณแผล ห้ามดูดแผลเล่น 5. ทำงานประจำวันได้ แต่อย่าออกกำลังกายเกินควร 6. ห้ามดื่มสุรา ของมึนเมา สูบบุหรี่ หรือรับประทานอาหารที่มีรสจัด 7. ถ้ามีอากการบวม เลือดไหลไม่หยุด หรือรู้สึกมีอาการผิดปกติควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจดูใหม่ 8. ในกรณีที่มีการเย็บแผลไว้ ให้กลับมาตัดไหมภายหลัง ประมาณ 5-7 วัน 9. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก จะช่วยให้แผลหายเร็ว ลดอาการเจ็บปวด FacebookTwitterGoogle+Line